เหล็กชุบ

 

เหล็กชุบ

เหล็กชุบ หรือ Galvanize คือ เหล็กที่ขึ้นรูปแล้วนำมาชุบด้วยสังกะสี โดยการชุบด้วยสังกะสีนั้นจะสามารถป้องกันตัวเหล็กไม่ให้เกิดการกัดกร่อน และมีความทนทาน สามารถใช้งานได้ยาวนาน

 

คุณสมบัติของเหล็กชุบ

  • สามารถนำไปใช้งานได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาทาสารป้องกันพื้นผิว
  • ไม่จำเป็นต้องทาสารกันสนิม
  • ประหยัดเวลาในการติดตั้งและประหยัดค่าทาเคลือบสารเคลือบกันสนิม
  • มีอายุการใช้งานยาวนาน
  • ทนทานแข็งแรงเทียบเท่าเหล็กรูปพรรณ
  • ไม่เหมาะกับการใช้งานในระบบท่อขนส่งน้ำประปา

 

 

ไขข้อสงสัย เหล็กชุบกัลวาไนซ์ VS เหล็กชุบซิงค์ เลือกใช้แบบไหนดี?

สำหรับปัญหาในการใช้วัสดุเหล็กรูปพรรณที่พบอยู่เป็นประจำคือ เมื่อใช้ไปซักระยะหนึ่งก็จะเกิดความชื้นและการกัดกร่อน หรือเกิดสนิมที่ผิวหรือเนื้อเหล็ก ทำให้มีอายุการใช้งานที่ไม่ยาวนาน และลดความแข็งแรงของเหล็กเหล่านั้นไป ซึ่งการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นคือการใช้สีกันสนิมทาบริเวณผิวของเหล็ก แต่ก็สามารถป้องกันสนิมได้เพียง 1-2 ปีเท่านั้น ผู้ใช้งานก็ต้องกลับมาพบเจอปัญหาเดิมๆ อีกครั้ง

เหล็กชุบ หรือเหล็กที่นำไปชุบเคลือบสารที่มีคุณสมบัติกันสนิมได้ยาวนานกว่า ทำให้ประหยัดงบประมาณได้มากกว่า จึงนิยมนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย ปัจจุบันมีเหล็กชุบหลายประเภท เช่น เหล็กชุบกัลวาไนซ์ เหล็กชุบซิงค์ และเหล็กชุบโครเมี่ยม เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเภทนัันมีคุณสมบัติและความเหมาะสมที่แตกต่างกันไป แต่เหล็กชุบยอดฮิตที่ผู้คนเลือกใช้คงจะหนีไม่พ้น เหล็กชุบกัลวาไนซ์และเหล็กชุบซิงค์ ซึ่งมีข้อดี สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าจะเลือกซื้อเหล็กชุบแบบไหนดี? ระหว่างเหล็กชุบกัลวาไนซ์กับเหล็กชุบซิงค์ วันนี้ไวต้า ธานีมีคำตอบ! เราจะพาไปรู้จักกับเหล็กชุบกัลวาไนซ์และเหล็กชุบซิงค์ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร และเหมาะสมกับการใช้งานรูปแบบใดบ้าง เพื่อให้สามารถเลือกซื้อได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพสูงสุด

ความแตกต่าง เหล็กชุบกัลวาไนซ์ VS เหล็กชุบซิงค์

เหล็กชุบทั้งสองประเภทนี้ เป็นเหล็กที่ถูกเคลือบผิวหรือการชุบเคลือบด้วยสังกะสีเพื่อป้องกันสนิมด้วยกันทั้งคู่ เพราะสังกะสีนั้นมีศักย์ไฟฟ้าต่ำกว่าเหล็ก จึงช่วยป้องกันการกัดกร่อนได้ และอายุการใช้งานที่ยาวนานมากกว่า นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดออกซิเจนและความชื้นในอากาศ ทำปฏิกิริยาทางเคมีที่บริเวณผิวเหล็กได้ แม้จะถูกเคลือบด้วยสังกะสีด้วยกันทั้งคู่ แต่เหล็กชุบกัลวาไนซ์ กับ เหล็กชุบซิงค์นั้นมีความแตกต่างอย่างชัดเจน ทั้งในแง่ของ
กระบวนการผลิตหรือการชุบ คุณสมบัติเฉพาะ และอายุการใช้งาน

กระบวนการผลิต
กระบวนการผลิตของเหล็กชุบกัลวาไนซ์ คือจะเป็นการชุบสังกะสีแบบจุ่มร้อน หรือ Hot-Dip Galvanizing) โดยจะนำเหล็กลงไปชุบในบ่อสังกะสีที่มีการหลอมละลายที่อุณหภูมิประมาณ 435-455 องศาเซลเซียส โดยทั่วไปจะมีความหนาของชั้นเคลือบประมาณ 65 - 300 ไมครอน ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการจุ่ม

ส่วนกระบวนการผลิตของเหล็กชุบซิงค์ คือการใช้ไฟฟ้ามาเป็นตัวเหนี่ยวนำ (Electro ด้วยการนำเหล็กลงไปจุ่มในอ่างอิเล็กโทรไลต์ที่มีซิงค์หรือสังกะสีอยู่ ทำให้ไฟฟ้าเหนี่ยวนำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างอิออนของซิงค์กับผิวของเหล็ก ทำให้เกิดชั้นเคลือบสังกะสีบนผิวเหล็ก โดยจะมีความหนาอยู่ไม่เกิน 20 ไมครอน

คุณสมบัติ
สำหรับคุณสมบัติของเหล็กชุบกัลวาไนซ์ ที่มีความหนาของสารเคลือบมากกว่าสารเคลือบของเหล็กชุบซิงค์นั้น จึงทำให้เหล็กชุบกัลวาไนซ์ มีการทนทานกัดกร่อนสูงกว่า และยืดอายุการใช้งานได้ยาวนานมากกว่า โดยเฉลี่ยอายุการใช้งานของเหล็กกัลวาไนซใน 1 ปี นั้นชั้นของสังกะสีจะถูกกัดกร่อนประมาณ 1 ไมครอนเท่านั้น ทำให้ มีอายุการใช้งานจะยาวนานเกิน 20 ปี รวมถึงยังสามารถต้านทานการกัดกร่อนโดยสภาพอากาศที่หลากหลายได้ดีกว่า และสามารถรับน้ำหนักและความดันได้เป็นอย่างดี แต่เหล็กชุบกัลวาไนซ์นั้นมีกระบวนการผลิตที่ค่อนข้างซับซ้อน ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญสูง จึงทำให้เหล็กชุบกัลวาไนซ์มีราคาสูงกว่าเหล็กชุบซิงค์


ส่วนเหล็กชุบซิงค์ที่มีราคาถูกกว่านั้น แม้จะมีความสามารถในการทนการกัดกร่อนน้อยกว่า แต่มีพื้นผิวที่เรียบเนียนและเงางามกว่า จึงนิยมใช้งานที่เน้นความสวยงามของเหล็กเป็นหลัก และยังมีน้ำหนักค่อนข้างเบา ทำให้ง่ายต่อการขนย้ายง่าย และต้นทุนด้านพลังงานที่ใช้ในการผลิตเหล็กชุบซิงค์นั้นน้อย จึงทำให้มีราคาถูกกว่าเหล็กชนิดอื่น

เหล็กประเภทใดที่นำมาชุบสังกะสีได้บ้าง
เหล็กชุบนั้นสามารถนำเหล็กรูปพรรณประเภทต่าง ๆ มาชุบเพื่อให้ช่วยยืดอายุการใช้งานก่อนนำไปใช้ได้ ซึ่งประเภทเหล็กรูปพรรณที่สามารถนำไปชุบโดยทั่วจะเป็น

  • เหล็กกล่อง เหมาะกับการใช้งานโครงสร้างหลักเสาบ้าน หรือเหล็กกล่องแบนเหมาะกับการใช้งานประเภทโครงสร้างรองของบ้าน
  • เหล็กตัวซี เหมาะกับการใช้งานประเภทโครงหลังคา หรือโครงผนังภายในและภายนอกอาคาร
  • เหล็กท่อกลม เหมาะกับการใช้งานทำโครงสร้างรั้วบ้าน หรือ นำไปประยุกต์ใช้เป็นท่อร้อยสายไฟ

เหล็กชุบกัลวาไนซ์ VS เหล็กชุบซิงค์ เลือกใช้แบบไหนดี?

ก่อนเลือกว่าจะใช้แบบไหนนั้น จะต้องพิจารณาจากความต้องการในการนำไปใช้งาน โดยอาจพิจารณาจากรูปแบบการนำไปใช้ สถานที่ที่นำไปใช้งาน และงบประมาณที่มีก่อนตัดสินใจ

การนำไปใช้งานของเหล็กชุบกัลวาไนซ์

  • ใช้ในงานโครงสร้างอาคาร เพราะมีความแข็งแรงและรับน้ำหนักได้ดี
  • ใช้ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศหลากหลาย เพราะมีความทนการกัดกร่อนได้ดี
  • ใช้ในพื้นที่ที่ใกล้ทะเล หรือโรงงานที่มีสารเคมี เพราะมีความทนการกัดกร่อนได้ดี
  • ใช้ในงานท่อลำเลียงของเหลว และท่อน้ำ เพราะสามารถรับความดันได้ดี
  • ใช้งานภายนอกอาคาร เช่น โครงสร้างรั้ว ท่อสายไฟ เสา และคานรับน้ำหนัก เสาไฟในพื้นที่กลางแจ้ง

    * ข้อควรระวัง ส่วนประกอบในสารเคลือบอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ หากต้องทำการเชื่อมหรือเจาะเพิ่มเติมอาจทำให้ส่งผลกระทบกับร่างกายได้ ควรใช้งานอย่างระมัดระวัง

การนำไปใช้งานของเหล็กชุบซิงค์

  • ใช้ในงานโครงสร้างอาคารในส่วนที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมาก เช่น ฝ้า เพดาน หลังคา และโครงเบาอื่น ๆ
  • ใช้ในงานหรือเป็นส่วนประกอบโครงสร้างภายในร่ม
  • ใช้งานโดยเน้นที่ความสวยงามของเหล็ก
  • ใช้งานในพื้นที่ที่มีอากาศและความชื้นน้อย หรือพื้นที่กัดกร่อนไม่สูง

    * ข้อควรระวัง กระบวนการทำเหล็กชุบซิงค์จะมีการนำไปเคลือบด้วยโครเมต (Chromate Treatment) ซึ่งสารโครเมียมนั้นเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและตัวผู้ทำงานชุบเคลือบ หากต้องทำการเชื่อมหรือเจาะเพิ่มเติมอาจทำให้ส่งผลกระทบกับร่างกายได้

 

จะเห็นได้ว่าเหล็กชุบกัลวาไนซ์กับเหล็กชุบซิงค์นั้น มีคุณสมบัติและความเหมาะสมในการใช้งานในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อควรวางแผนในการใช้งาน คำนวณงบประมาณ และคาดการอายุการใช้งานที่ต้องการก่อน เพื่อให้สามารถเลือกซื้อเหล็กชุบได้ถูกประเภท ในราคาที่เหมาะสม และการใช้งานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด